เลือกรายการข้อมูลที่ต้องการ
บุคลากร
ระบบกระดานข้อคิดเห็น
ระบบร้องเรียน - ระบบอุธรณ์
เชื่อมโยงลิงค์ต่างๆ ที่น่าสนใจ

 สถิติการเข้าชมเว็บไซต์
  ขณะนี้ออนไลน์ :  1
  เยี่ยมชมวันนี้ :  26
  เยี่ยมชมเดือนนี้ :  559
  เยี่ยมชมปีนี้ :  2,630
  เยี่ยมชมทั้งหมด :  161,034
  IP :  172.70.35.24
  เริ่มนับวันที่  1 มิถุนายน 2557

» ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในการมีคำสั่ง ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
 
     1. คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แต่ต้องระบุไว้ด้วยว่าที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใด และเพราะเหตุใด (มาตรา 15 วรรคสอง)

 

            เมื่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง

ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยได้ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องใช้ดุลยพินิจว่าจะมีคำสั่งให้เปิดเผยหรือไม่ใช่เปิดเผย และในกรณีที่มี

คำสั่งมิให้เปิดเผย (การแจ้งผู้ร้องว่าไม่อนุญาตหรือไม่สามารถเปิดเผยได้) จะต้องระบุไว้ในคำสั่งด้วยถึงเหตุผลของการไม่เปิดเผย โดยเหตุผลที่ระบุอย่างน้อยต้องแจ้งว่าข้อมูลข่าวสารที่สั่งไม่เปิดเผยนี้จัดเป็นข้อมูลข่าวสารอยู่ในประเภทใด และเพราะเหตุใดจึงไม่เปิดเผย โดยมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เช่น ในกรณีที่มีผู้ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบสวนวินัยของเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่การสอบสวนวินัยดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เมื่อมีปัญญหาข้อมูลข่าวสารดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ก็จะต้องระบุเหตุผลของการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้วยว่า เหตุผลที่ไม่เปิดเผยนี้เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่ขอเป็นข้อมูลข่าวสารที่จัดอยู่ในประเภทของข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ เนื่องจากขณะนั้นการดำเนินการสอบสวนวินัยยังไม่เสร็จสิ้นการเปิดเผยอาจทำให้การดำเนินการสอบสวนไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมได้ ทั้งนี้

เป็นไปตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 เป็นต้น

           การที่พระราชบัญญัติกำหนดให้คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะต้องระบุเหตุผลของการสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้ด้วย ก็เพื่อประโยชน์หลายประการ คือ

           ประการแรก ทำให้เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ออกคำสั่งมิให้เปิดเผยต้องมีการพิจารณาโดยรอบคอบอย่างจริงจังว่าสมควรที่จะไม่เปิดเผย มีเหตุผลรองรับทั้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริง

           ประการที่สอง ทำให้ผู้ที่ขอข้อมูลข่าวสารมีความชัดเจนว่าการที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมิใช่เป็นการดำเนินการตามอำเภอใจหรือต้องการปกปิด โดยมีอะไรที่ซ่อนเร้นปิดบังไม่ถูกต้อง ซึ่งหากเหตุผลที่ระบุไว้เป็นที่ยอมรับและผู้ที่ขอข้อมูลข่าวสารพอใจ ถือได้ว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือแก่ระบบการบริหารงานของรัฐได้อีกทางหนึ่ง

           ประการที่สาม ในกรณีที่ผู้ขอข้อมูลข่าวสารไม่เห็นด้วยกับคำสั่งมิให้เปิดเผยของหน่วยงานของรัฐและใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย เหตุผลที่ระบุไว้ในคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็น่าจะเป็นข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าสาร ยิ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ระบุเหตุผลไว้โดยระเอียดมากเท่าใด การวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับการส่งเสริมให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อีกทางหนึ่ง

 

     2. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องให้เวลาอันสมควรที่ผู้นั้นอาจเสนอคำคัดค้านได้ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่รับแจ้ง (มาตรา 17 วรรคหนึ่ง)

 

           ข้อกำหนดนี้เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารตามที่มีผู้ยื่นคำขอไว้แล้วเห็นว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวหากเปิดเผยไปแล้วอาจทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบหรือเสียหายต่อประโยชน์ได้เสียของบุคคลดังกล่าวพระราชบัญญัติกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รัฐผิดชอบการพิจารณาเรื่องนี้แจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้เสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด โดยให้เวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ การแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งประโยชน์ได้เสียอาจได้รับผลกระทบนั้นถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้รับทราบว่ามีการขอข้อมูลข่าวสารและอาจมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว บุคคลที่เกี่ยวข้องจ้ะสามารถพิจารณาว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของตนหรือไม่ และจะ คัดค้านโดยชัดแจ้งหรือโดยละเอียดด้วย เพื่อหน่วยงานสามารถใช้ประกอบการพิจารณาได้ เช่น คัดค้านไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะทำให้เสียหายอย่างใดมากเพียงใด เป็นต้น นอกจากนั้น การให้เวลาแก่ผู้มีประโยชน์ได้เสียหรือได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก็เพื่อที่จะให้บุคคลนั้นสามารถมีเวลาเพียงพอในการพิจารณาและจัดทำคำคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถไปกำหนดให้เวลาที่มากเกินสมควรเพราะโดยใช้หลักการแล้วกฎหมายต้องที่ต้องการแล้วกฎหมายต้องการให้ดำเนินการคัดค้านโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาเรื่องการขอข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีความล่าช้าดังนั้น หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงควรแจ้งกำหนดเวลาที่อาจรับผลกระทบได้พิจารณามีคำคัดค้านภายในเวลาที่เหมาะสม

 

     3. ผู้ที่ได้รับแจ้งตามข้อ 5.2 (มาตรา 17 วรรคหนึ่ง) ผู้ที่รับทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยทำเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ (มาตรา 17 วรรคสอง)

 

           ข้อกำหนดนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการดำเนินการในข้อที่ผ่านมา กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้แจ้งให้ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทราบแล้ว ผู้ที่ได้รับแจ้งหากประสงค์จะคัดค้านก็จะต้องดำเนินการคัดค้านภายในเวลาตามที่ได้รับแจ้ง ซึ่งหากพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่ได้รับหนังสือคัดค้านเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมสามารถมีดุลพินิจให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

 

     4. ในกรณีที่มีคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาคำคัดค้านและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมิได้ จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 18 หรือจนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้แล้วแต่กรณี (มาตรา 17 วรรคสาม)

 

           จะเห็นได้ว่า เมื่อบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียหากมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีหนังสือคัดค้านมายังเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถมีดุลพินิจที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำคัดค้านดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเห็นด้วยกับ

คำคัดค้าน ก็มีคำสั่งมิให้เปิดเผยตามแนวทางที่ได้ศึกษามาแล้ว และแจ้งให้ผู้ร้องขอข้อมูลข่าวสารทราบ แต่ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำคัดค้านก็จะต้องมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน และแจ้งให้ผู้ที่คัดค้านทราบว่า หน่วยงานของรัฐหรืเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำคัดค้านและจะพิจารณาดำเนินการมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่มีผู้ขอนี้ต่อไป

            การที่หน่วยงานของรัฐมีดุลพินิจที่จะไม่รับฟังคำคัดค้าน พระราชบัญญัติได้กำหนดห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจนกว่าจะได้ผ่านเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองอย่างก่อน กล่าวคือ

            เงื่อนไขประการแรก “จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 18”

            มาตรา 18 ได้กำหนดให้ผู้คัดค้านสามารถอุทธรณ์ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รับฟังคำคัดค้านต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น หมายความว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้มีคำสั่งแจ้งไม่รับฟังคำคัดค้านไปยัง

ผู้คัดค้านรวมทั้งได้แจ้งไปในคำสั่งดังกล่าวให้ผู้คัดค้านทราบด้วยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น ซึ่งถ้าพ้นกำหนดเวลาตามคำสั่งนี้และไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านต่อ

คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้กับผู้ขอได้ อย่างไรก็ตามหากในการแจ้ง

คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์และกำหนดวันที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้คัดค้านทราบ กำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 18 นี้ก็จะถูกขยายออกไปจากสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เป็นหนึ่งปีนับแต่วันทีได้รับแจ้งคำสั่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 40

            เงื่อนไขประการที่สอง “หรือจนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้แล้ว”

            เงื่อนไขนี้สืบเนื่องจากเงื่อนไขประการแรก กล่าวคือ ในกรณีที่ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 18 แล้ว ผู้คัดค้านไม่ดำเนินการอุทธรณ์ต่อ

คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประการที่สอง แต่หาก

ผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขประการแรกแล้ว หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะยังเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไม่ได้จนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยฯ จะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งหากคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับการไม่รับฟัง

คำคัดค้านของหน่วยงานของรัฐก็สามารถดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ แต่หากคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ไม่เห็นด้วยกับการไม่รับฟังคำคัดค้าน หน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ หรือหากคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแต่เพียงบางส่วน หน่วยงานของรัฐก็จะต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากในมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติ ได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นที่สุด



สงวนลิขสิทธิ์ © 2014 ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
เลขที่ 3/47 ถนนบายพาส-ทุ่งมน ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 46000 โทรศัพท์ 043-816-061