เลือกรายการข้อมูลที่ต้องการ
บุคลากร
ระบบกระดานข้อคิดเห็น
ระบบร้องเรียน - ระบบอุธรณ์
เชื่อมโยงลิงค์ต่างๆ ที่น่าสนใจ

 สถิติการเข้าชมเว็บไซต์
  ขณะนี้ออนไลน์ :  1
  เยี่ยมชมวันนี้ :  27
  เยี่ยมชมเดือนนี้ :  560
  เยี่ยมชมปีนี้ :  2,631
  เยี่ยมชมทั้งหมด :  161,035
  IP :  172.70.135.5
  เริ่มนับวันที่  1 มิถุนายน 2557

» ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ห้ามมิให้เปิดเผย หรืออาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย
 

     ข้อมูลข่าวสารของราชการโดยหลักแล้วต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้อย่างไรก็ตามข้อมูลข่าวสารของราชการบางลักษณะอาจไม่สมควรเปิดเผย  พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงได้กำหนดประเภทของข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในข่ายหรือข้อยกเว้นที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถมีคำสั่งมิให้

เปิดเผยได้ ดังนี้

 

1. ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย

 

     ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชบัญญัติกำหนดว่าจะเปิดเผยมิได้ นั่นหมายถึงว่าถ้ามีข้อมูลข่าวสารที่มีข่ายลักษณะตามข้อนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไม่เปิดเผย ไม่มีข้อยกเว้นให้ไปพิจารณาใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักทั้งสิ้น ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

 

2. ข้อมูลข่าวสารที่อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย

 

     เพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการพิจารณาว่า ข้อมูลข่าวสารใดเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย หรือสมควรสงวนไว้ยังมิให้เปิดเผย รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายก็ได้ทราบถึงแนวทางหรือหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย พระราชบัญญัติจึงมีข้อกำหนดว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ (ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (1)-(7) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540) หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้นั่นคือ สามารถมีดุลพินิจมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามข้อนี้ได้ ดังนี้

 

     2.1 ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ (มาตรา 15(1))

          ข้อมูลข่าวสารในข้อนี้มีที่สำคัญ 3 ส่วนคือ

          (1) ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น แผนป้องกันหรือต่อต้านกองกำลังต่างชาติ ในกรณีที่ประเทศไทยถูกโจมตี รายงาน

การสืบสวนเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายที่อาจเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย เป็นต้น
          (2) ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการบริหารงานภายในของประเทศอื่น เป็นต้น การเปิดเผยอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่งได้

          (3) ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะกระทบต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ เช่น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และกลยุทธ์ใน

การบริหาร อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอาจก่อให้เกิด

การแสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้


     2.2 ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะทำให้การบังคับกฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน

การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม (มาตรา 15(2))

           ข้อมูลข่าวสารตามข้อนี้ เป็นการมุ่งเน้นกรณีที่การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพซึ่งก็คือการพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ

การปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั่นเอง เนื่องจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ที่ดำเนินงาน โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ หากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่เกิดผล นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐด้วย ดังนั้น พระราชบัญญัติจึงให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ สำหรับประเด็นของผลกระทบนี้ พระราชบัญญัติมิได้จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือเกี่ยวกับแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารก็ได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบสวนวินัย การสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งยังดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ เป็นต้น

 

     2.3 ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสาร

ที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว (มาตรา 15(3))

           การที่พระราชบัญญัติกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ยังเป็นเพียงความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ เนื่องจาก

การพิจารณาตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจต้องมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากันหลายชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือในการพิจารณาชั้นต้นอาจมีความเห็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาในขั้นสุดท้ายอาจมีข้อยุติ หรือข้อสรุปในการพิจารณาแตกต่างจากครั้งแรกก็ได้ การให้ความเป็นอิสระกับเจ้าหน้าที่ในการเสนอความเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกรบกวนก่อนมีผลยุติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างไรก็ตามถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า มิใช่เรื่องสำคัญที่จะกระทบความเป็นอิสระและผลสำเร็จในการทำงานของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐจะสั่งให้เปิดเผยก็ได้ อนึ่ง ข้อมูลข่าวสารที่จะไม่เปิดเผยนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเท่านั้น ไม่รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณา เช่น รายงานทางวิชาการ และรายงานข้อเท็จจริง เป็นต้น

 

     2.4 ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (มาตรา 15(4))

           เรื่องความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งของทุก ๆ สังคม พระราชบัญญัติจึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดที่พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับพยานในการสอบสวนเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนผู้ที่เป็นผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต หรือประพฤติไม่ถูกต้องต่าง ๆ ซึ่งอาจได้รับอันตรายถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้รู้ตัวพยานเหล่านี้ เป็นต้น

 

     2.5 ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับรายงานแพทย์ หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร (มาตรา 15(5))

           ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับรายงานแพทย์ โดยปกติจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติสุขภาพ หรือประวัติ

การรักษาพยาบาลของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง โดยปกติแพทย์จะไม่นำไปเปิดเผยให้บุคคลอื่นได้ทราบ และในส่วนของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งอาจอยู่ในระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ เช่น ประวัติการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งรวมอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลข่าวสารของราชการอื่น ๆ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร เจ้าหน้าที่ก็อาจมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

 

     2.6 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น (มาตรา 15(6))

           ข้อมูลข่าวสารของราชการตามข้อนี้แบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย ซึ่งเป็นกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ อาจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้น มีข้อกำหนดมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารบางประเภทไว้ เช่น กรมสรรพากรมีประมวลรัษฎากร มาตรา 10

ที่กำหนดห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของผู้เสียภาษีแก่ผู้ใดเว้นแต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหรือศาล เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวก็สามารถมีคำสั่งมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผยดังกล่าวนี้ได้ สำหรับข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่นนั้นมีได้ในหลายลักษณะ เช่น อาจเป็นไปโดยชัดแจ้ง โดยผู้ให้ข้อมูลข่าวสารได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไม่ประสงค์จะให้ราชการนำไปเปิดเผย หรืออาจมีการทำสัญญาต่อกันไว้ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าของข้อมูล หรือในบางกรณีอาจถือว่าเป็นไปโดยปริยายได้ เช่น เรื่องการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับ

การทุจริตประพฤติมิชอบ หรือการทำผิดในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่า ข้อมูลลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อหรือสิ่งที่ทำให้รู้ชื่อผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหน่วยงานของรัฐจะไม่นำไปเปิดเผย ซึ่งอาจถือว่าเป็นกรณีที่เป็นไปโดยปริยายที่ผู้ให้ไม่ประสงค์จะให้นำข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับชื่อ หรือสิ่งที่ทำให้รู้ตัวผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไปเปิดเผย

 

     2.7 ข้อมูลข่าวสารที่มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม (มาตรา 15(7))

           ข้อมูลข่าวสารตามข้อนี้จะเป็นข้อมูลข่าวสารที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรกำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยทั้งสี้เพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้ส่วนเสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น โดยในกรณีที่ต้องการจะกำหนดประเภทของข้อมูลข่าวสารที่อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยเพิ่มเติมได้ จะต้องนำไปกำหนดในพระราชกฤษฎีกา



สงวนลิขสิทธิ์ © 2014 ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
เลขที่ 3/47 ถนนบายพาส-ทุ่งมน ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 46000 โทรศัพท์ 043-816-061